ในปี 2020 นี้ สคิมบอร์ดเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมชายหาดที่มาแรงและเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น อาจเป็นผลพลอยได้จากการที่ surfing culture & beach lifestyle ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆและเริ่มมีกรุ้ปหรือเพจผู้เล่นสคิมบอร์ดในพื้นที่จังหวัดต่างๆเยอะขึ้น
ประวัติของสคิมบอร์ด
เท่าที่มีบันทึกไว้ ในช่วงปลายๆของ 1920s กีฬาสคิมบอร์ดเริ่มเป็นที่รู้จักที่หาด Laguna Beach, California หลังจากที่เหล่า lifeguard ใช้แผ่นไม้กระดานทรงกลม ไถลไปตามหาดเพื่อตรวจตราลาดตระเวน รวมถึงมีการผูกเชือกและใช้เรือลาก หลังจากนั้นมีการพัฒนารูปทรงจากแผ่นไม้ทรงกลมเป็นรูปทรง ‘pizza’ และ ช่วงปี 1960s ถือเป็นการปฏิรูปทรงแผ่นสคิมบอร์ดโดยมีการพัฒนาจากทรงกลม เป็นทรงรี เรียวยาว เพื่อให้ไถลไปบนผิวน้ำเพื่อเข้าหาคลื่นได้ดีขึ้น และมีการพัฒนารูปทรงมาจนเป็นแบบที่เห็นในปัจจุบัน
การเติบโตของกีฬาสคิมบอร์ดในไทย
สำหรับในประเทศไทย สคิมบอร์ดเริ่มเป็นที่รู้จักในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีผู้เล่นทั้ง wave skimboard และ flatland skimboard เป็นกลุ่มเล็กๆในพื้นที่ต่างๆ จนกระทั่งปี 2020 กิจกรรมนี้ก็เริ่มเป็นที่สนใจสนใจอีกครั้งในหมู่คนไทยจากการประชาสัมพันธ์ของเพจ Skimboard Thailand ที่เริ่มสร้างการรับรู้ และตระเวนโปรโมทในพื้นที่ต่างๆที่ติดทะเลจนปัจจุบันได้มีเครือข่ายกลุ่มผู้เล่นท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศ
รูปแบบการเล่นและชนิดแผ่น
สคิมบอร์ดแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ซึ่งแตกต่างกันทั้งอุปกรณ์และวิธีการเล่น
Wave Skimboarding หรือ สคิมบอร์ดคลื่น
หรือ wave riding skimboard ที่เรียกกันสั้นๆว่า “สคิมคลื่น” คล้ายการเล่นเซิร์ฟ แต่จะเป็นการวิ่งออกจากหาดเพื่อเข้าไปหาคลื่นที่ซัดหน้าหาดเพื่อเล่นกับคลื่น
แผ่นสคิมบอร์ดสำหรับเล่นคลื่น จะมีความยาวอยู่ในช่วง 48-56 นิ้ว ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุแกนในจะใช้เป็นโฟม (high density foam) ห่อหุ้มด้วยผ้าใยแก้ว (fiberglass+epoxy) มีแรงลอยตัวเยอะ แต่ในบางประเทศแถบเอเชียเช่น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย ก็นิยมการใช้แผ่นไม้
HOLM Skimboard AT-1 series
Flatland Skimboard หรือ แฟลตแลนด์สคิมบอร์ด
flatland skimboarding : การเล่นแฟลตแลนด์สคิมบอร์ด จะเป็นการเล่นกับน้ำเรียด สามารถเล่นได้ทั้งหาดที่เรียบและไม่มีความชัน, หรือเล่นกันตามแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำบางๆ รวมทั้งสนามสคิม (เช่น Skim Cafe สนามสคิมบอร์ดในกรุงเทพ ที่ผมและเพื่อนๆไปรบกวนซ้อมกันประจำช่วงที่ไม่ได้ไปทะเล) โดยผู้เล่นจะโฟกัสที่การเล่นทริค, เตะท่าผาดโผนต่างๆคล้ายสเก็ตบอร์ด
แผ่นแฟลตแลนด์ จะมีลักษณะอ้วนและสั้นกว่าแผ่นคลื่น (ความยาวเฉลี่ย 39-42 นิ้ว) วัสดุเป็นไม้ มีน้ำหนักมากกว่าแผ่นคลื่นอย่างรู้สึกได้ พุ่งไถลได้ไกลบนน้ำเรียด
วิธีการเล่นเบื้องต้น
“วิธีการวางแผ่นและก้าวเท้าขึ้นแผ่น” หรือที่มักเรียกว่าการดร็อปแผ่น(drop) สำหรับการเล่นคลื่นและแฟลตแลนด์จะแตกต่างกันเล็กน้อย โดยวิธีการดร็อปแผ่นทั้งสองวิธีที่เราแนะนำในบทความนี้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยม แต่ก็ยังมีวิธีขึ้นแบบอื่นๆด้วยนะครับ ไว้ถ้าเจอคนดร็อปแผ่นแบบอื่นเดี๋ยวเราจะตามไปสัมภาษณ์ให้เค้าสอนเทคนิคกัน
one step drop หรือ one drop สำหรับเล่นคลื่น
นิยมใช้เพื่อเล่นเข้าคลื่น เนื่องจากใช้ระยะเวลาสั้นกว่าในการขึ้นแผ่น โดยจะวางแผ่นไปด้านหน้าขณะวิ่ง และรีบก้าวเท้าเพื่อขึ้นแผ่นทันที
การขึ้นแบบ run drop สำหรับเล่นแฟลตแลนด์
นิยมใช้เล่น flatland skimboard เป็นการออกแรงส่งแผ่นไปด้านหน้าขณะวิ่ง จากนั้นก็สับเท้าวิ่งตามเพื่อสร้างความเร็วก่อนออกแรงส่งตัวขึ้นแผ่นเพื่อให้เกิดแรงกระแทกส่งแผ่นพุ่งไปด้วยความเร็ว
คำแนะนำ และ ข้อควรระวังสำหรับมือใหม่
- ก่อนลงน้ำ เราแนะนำให้ฝึกขึ้นแผ่นบนทรายหรือบนหญ้า ฝึกซ้ำๆให้ชิน เพื่อให้ร่างกายจดจำลักษณะการเคลื่อนไหวที่ใช้ตอนขึ้นแผ่น หรือซ้อมในสนามสคิมบอร์ดก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยเช่นกันครับ
- เริ่มเบาๆ อย่าเพิ่งวิ่งเร็วมากในตอนเริ่มฝึก เราเคยได้ยินจากในยูทูป ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นน้า Blair Conklin เคยบอกไว้ว่า “run as fast as you wanna fall” หรือ อยากล้มแรงแค่ไหนก็วิ่งไวแค่นั้น 😂 ทำทุกอย่างให้ช้าเข้าไว้ในตอนเริ่มต้น เมื่อเราเริ่มคล่องขึ้น มันจะค่อยๆรวดเร็วขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ
- “ย่อเข่าเสมอ” เพราะการยืนขาแข็งตรง นอกจากสร้างสมดุลย์บนผิวน้ำยากกว่า ตอนล้มก็มักเจ็บกว่าด้วยครับ การย่อนอกจากจะช่วยสร้างบาลานซ์ที่ดีขึ้นแล้วยังช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงได้อีกด้วย